มด..ศัตรูตัวจิ๋วที่อยู่ใกล้ตัว
ทั่วโลกพบมดที่จำแนกชนิดแล้วได้ประมาณ 15,000 ชนิด สามารถพบทั่วไปตั้งแต่เขตร้อน (tropical) จนถึงบริเวณใกล้เขตขั้วโลก (subarctic) ซึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีทั้งในสภาพแวดล้อมทั่วไปในพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่อยู่อาศัย ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีมดทั้งหมดประมาณ 800-1,000 ชนิด
มดเป็นแมลงสังคมแท้จริงชั้นสูงที่ขนาดรังมีประชากรเป็นจำนวนมาก ในรังหนึ่งแบ่งเป็นสามวรรณะ หนึ่งคือ มดราชินี มักจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่ออกไข่ ซึ่งในรังหนึ่งอาจมีมากกว่า 1ตัว และอายุอาจจะมากกว่า 10 ปี สองคือมดวรรณะสืบพันธุ์มีทั้งมดเพศผู้และเพศเมีย มดเพศผู้อายุสั้นราว 1-2 สัปดาห์ ส่วนมดเพศเมียมีหน้าที่หารังใหม่เพื่อวางไข่และเป็นราชินีต่อไป สุดท้ายคือมดงานซึ่งมีมากที่สุด มีหน้าที่สร้างรัง ปกป้องรัง หาอาหาร ดูแลไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และราชินีอีกด้วย ซึ่งมดงานนี้จะมีอายุราว 4-6 เดือน
มดมีบทบาทในหลายลักษณะทั้งที่เป็นแมลงศัตรูทำลายพืชผลทางการเกษตรทั้งในแปลงปลูกและในโรงเก็บ ทำความเสียหายทางด้านปศุสัตว์โดยเข้ากัดกินตัวอ่อนของสัตว์ ส่วนในบ้านเรือนของคนนั้น มดจะเข้ามาก่อความรำคาญและทำความเสียหาย และยังสามารถทำอันตรายกับคนได้โดยตรง มดบางชนิดสามารถกัดหรือต่อยด้วยเหล็กไน พร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษลงไปในบาดแผล ทำให้เกิดความเจ็บปวด เกิดอาการแพ้ หรือเกิดแผลติดเชื้อซ้ำบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อย นอกจากนั้นมดยังสร้างปัญหาในภาคอุตสาหกรรมต่างๆอีกด้วย โดยเข้าไปอาศัยอยู่ในอุปกรณ์หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
มดบางชนิด เช่น มดละเอียด (Monomorium pharaonis) เป็นมดที่ทำรังหลักหรือรังใหญ่ (mother colony) อยู่ภายนอกบ้าน แต่มดงานจะเข้ามาหาอาหารภายในบ้านเรือนหรือตามที่อาศัยต่างๆของคน อาทิเช่น อพาร์ทเมนต์ โรงงาน โรงพยาบาล และสามารถสร้างรังย่อย (daughter colony) แตกออกมาจากรังหลักกระจายอยู่ในบ้าน โดยรังย่อยเหล่านี้จะซ่อนอยู่ตามรอยแยกของผนัง ช่องว่างตามกำแพง กล่องสวิตช์ไฟ เป็นต้น มดละเอียดสามารถผสมพันธุ์ภายในรังได้ทั้งปี หลังผสมพันธุ์แล้วราชินีตัวใหม่จะออกจากรังเดิมเพื่อไปสร้างรังใหม่อีกต่อไป
มดสามารถกินอาหารได้หลากหลายชนิด บางชนิดกินได้ทั้งน้ำตาลและโปรตีน อาทิเช่น พวกเนื้อสัตว์ เศษซากแมลงที่ตายแล้ว เลือด น้ำเหลือง และสารคัดหลั่งอื่นๆจากร่างกายของคน
มดเป็นแมลงที่จัดว่าทำการควบคุมได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กหลบซ่อนตัวได้ง่าย หากินไกลออกไปจากรัง มีทั้งรังหลักและรังย่อยซึ่งยากแก่การค้นหา
การควบคุมกำจัดมดนั้น โดยทั่วไปจะใช้สารกำจัดแมลงชนิดกระป๋องสเปรย์ฉีดพ่น ซึ่งจะพบว่าการใช้สารเคมีในการฉีดพ่นไปที่แถวทางเดินมดหรือที่รังใดรังหนึ่งนั้น จะทำให้ประชากรมดแตกกระจาย จนบางครั้งจะทำให้มดเหล่านี้ยิ่งแตกออกเป็นรังย่อยๆได้ หรือที่เรียกว่า “Budding “ และจะทำให้การควบคุมทำได้ยากยิ่งขึ้น
อีกวิธีการหนึ่งก็คือ “การใช้เหยื่อพิษ” เป็นวิธีที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งในการควบคุมกำจัดมด โดยการที่วางเหยื่อพิษล่อมดให้เข้ามากินและนำกลับเอาเหยื่อพิษกลับไปป้อนสมาชิกตัวอื่นภายในรัง ซึ่งจะเป็นการกำจัดมดวรรณะอื่นๆ รวมทั้งตัวอ่อนที่อยู่ในรังอีกด้วย (Trophallaxis)
เหยื่อพิษ ที่ดีนั้น ควรประกอบด้วยอาหารที่สามารถดึงดูดให้มดมากินเหยื่อได้ดี (ทั้งมดที่ชอบประเภทน้ำตาลและโปรตีน) และคงสภาพความดึงดูดนั้นไว้ได้นาน
เหยื่อพิษ ที่ดีนั้น ไม่ควรมีส่วนผสมของสารไล่ (Repellent) และควรประกอบด้วยสารเคมีที่ใช้ฆ่ามดประเภทออกฤทธิ์ช้า ซึ่งจะให้ผลดีกว่าประเภทออกฤทธิ์เร็ว เพราะต้องการให้มดที่มากินเหยื่อไม่ตายในทันที เพื่อที่จะนำเหยื่อพิษกลับไปป้อนให้สมาชิกอื่นๆที่รัง
การวางเหยื่อพิษนั้น ควรวางหลายๆจุดในที่เหมาะสม อาทิเช่น บริเวณแนวทางเดินของมดที่เข้ามาหาอาหาร บริเวณแหล่งน้ำ หรือบริเวณปากทางที่มดเดินออกจากรัง ควรวางและเติมเหยื่อพิษอย่างต่อเนื่อง และดูแลไม่ให้มีอาหารอย่างอื่นให้มดเลือกกินในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามการควบคุมกำจัดมดที่ดีนั้น ควรทำร่วมกับการสุขาภิบาลที่ดีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คือ การทำความสะอาดพื้นที่ ดูแลไม่ให้มีเศษอาหารตกหล่น และหมั่นเก็บขยะทิ้งให้เรียบร้อย รวมถึงเก็บอาหารไว้ในที่ที่มดไม่สามารถเข้าถึงได้
“แม็กซ์ฟอร์ซ ควอนตั้ม” เหยื่อกำจัดมดจากเอ็นวิว เยอรมนี