โรคปากและเท้าเปื่อย
โรคปากและเท้าเปื่อย
เป็นโรคที่เกิดในสัตว์กีบคู่ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยมีทั้งหมด 7 ชนิด แต่ในประเทศไทยพบเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ชนิดโอ เอ และเอเชียวัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคปากและเท้าเปื่อยไม่ทําให้ตาย ยกเว้นในลูกสัตว์ขนาดเล็กที่อาจเสียชีวิตได้ หากสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะแสดงอาการรุนแรง และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพนานมาก นอกจากนี้สัตว์บางตัวอาจไม่สามารถกลับมามีผลผลิตได้เหมือนเดิม
อาการของโรค
ซึม ไข้สูง นํ้าลายไหล มีเม็ดตุ่มใสพุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบ ต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกระเผลก นํ้าลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม ความรุนแรงของอาการความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานโรค ความแข็งแรงของตัวสัตว์และ ปริมาณเชื้อโรค
การติดต่อ
สัตว์สามารถติดโรคนี้ได้จากการกินอาหารหรือนํ้าที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าไป รวมถึงสัมผัสเข้ากับสารคัดหลั่งที่เกิดจากการขับเชื้อไวรัส จากเม็ดตุ่มน้ำใส น้ำลาย หรือมูลสัตว์ของสัตว์ที่เป็นโรคอยู่
การป้องกันโรคเข้าฟาร์ม
- งดการนําสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด
- ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม
- ห้ามยานพาหนะเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีการเข้าฟาร์มหลายแห่ง เช่นรถขนขี้วัว รถรับซื้อโค รถขนฟาง รถขนอาหาร เป็นต้น
- เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื้อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด
- ทําความสะอาดและทําลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ