แมลงดูดเลือดที่ก่อปัญหาให้กับชุมชน สร้างความรำคาญ เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เช่น โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย เป็นต้น
การจำแนก
ยุงที่สำคัญ และพบเป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทย
- ยุงก้นปล่อง (Anopheles) โรคมาลาเรีย มีหลายชนิดที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียในไทย มักอยู่ไกลจากเมือง พบในป่าลึก ชายป่า ชายเขาหรือตามสวนยางหรือสวนผลไม้ ขึ้นอยู่กับชนิดของยุง เพาะพันธุ์ตามแอ่งน้ำไหลเอื่อยๆ ค่อนข้างสะอาด แอ่งหิน โพรงไม้ นาข้าว มักออกหากินเวลากลางคืน
- ยุงลาย (Aedes) โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา
- ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) มักพบอาศัยภายในบ้าน ออกหากินกลางวัน ช่วงเช้าและบ่าย วางไข่บริเวณแหล่งน้ำสะอาดใกล้ๆ บ้าน ตามภาชนะน้ำขัง เช่น แจกันดอกไม้ ตุ่มน้ำ ห้องน้ำ เป็นต้น
- ยุงลายสวน (Aedes albopictus) มักพบตามสวนผลไม้ สวนยางพารา ชอบหากินตอนกลางวัน วางไข่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ เช่น โพรงต้นไม้ที่มีน้ำขัง กาบใบพืช
- ยุงรำคาญ (Culex) โรคไข้สมองอักเสบ
มีหลายชนิดที่เป็นตัวการนำโรค มักวางไข่ในน้ำเน่าเสีย ท่อระบายน้ำทิ้ง หนองน้ำ บึงนาข้าว บ่อน้ำเล็กๆ น้ำครำใต้ถุนบ้าน แหล่งเพาะพันธุ์มักอยู่ใกล้บ้านเรือน ออกหากินพลบค่ำถึงเช้ามืด - ยุงเสือ (Mansonia) โรคเท้าช้าง แหล่งเพาะพันธุ์ คือบึงที่มีพืชน้ำ เช่น จอก แหน ผักตบชวา ป่าพรุที่มีพืชน้ำ เป็นต้น โดยจะออกหากินในเวลากลางคืน
ชีววิทยาและนิเวศวิทยา
ยุงมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) โดยแบ่งการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และ ตัวเต็มวัย ปกติยุงทั้งเพศผู้และเพศเมียจะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว แต่สำหรับยุงเพศเมียจะต้องการโปรตีนจากเลือดมนุษย์หรือสัตว์เพื่อช่วยในการเจริญของไข่และสร้างพลังงาน ดังนั้น ยุงเพศเมียเท่านั้นที่กัดคนและสัตว์